การนำทฤษฎีการสื่อสารมาใช้ในการนิเทศการศึกษา
การนำทฤษฎีการสื่อสารมาใช้ในการนิเทศการศึกษา
การนำทฤษฎีการสื่อสารมาใช้ในการนิเทศการศึกษานั้นเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมาก
เนื่องจากการนิเทศการศึกษานั้นจำเป็นต้องทำการความเข้าใจที่ชัดเจนถูกต้อง
ร่วมกันระหว่างผู้นิเทศ ผู้รับการนิเทศ และผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่ง วัชรา เล่าเรียนดี
(2554 : 84) สรุปถึงวิธีการสื่อสารในการนิเทศไว้ ดังนี้
1. ทางวาจา
ต้องใช้คำพูดที่สื่อความหมายได้ชัดเจน
2. ทางการเขียน ควรเขียนด้วยภาษาเขียนที่ถูกต้อง
อ่านแล้วเข้าใจง่าย
3. ภาษาท่าทาง เช่น การแสดงออกด้วยสีหน้า
แววตา ท่าทาง อากัปกิริยาต่างๆ
4. ทางวาจา ทางการเขียน และการใช้ท่าทาง
การสื่อสารที่ใช้ผสมผสานกันในการสื่อความหมายช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น
5. ทางวาจา อุปกรณ์ สัญลักษณ์ต่างๆ
เพื่อสื่อความหมาย อาจสร้างความเข้าใจได้ไม่ตรงกัน
แต่ถ้ามีการใช้วาจาประกอบการแสดง การอธิบาย จะช่วยให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2558
: 171) ได้กล่าวถึงการนำความรู้การติดต่อสื่อสารไปใช้ในการนิเทศ ดังต่อไปนี้
1.
การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้นิเทศกับผู้รับการนิเทศ
จะเกิดความผิดพลาดถ้าทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีการรับรู้ในทัศนะเดียวกัน
2. การใช้ภาษาที่เป็นการติดต่อสองทาง
จะมีผลกว่าการใช้ภาษาเขียนในทางเดียว
3.
การติดต่อสื่อสารควรคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับและผู้ส่งด้วย
ซึ่งจะทำให้การส่งสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4. การเลือกใช้ภาษาที่ถูกต้องชัดเจน
จะทำให้มีความเข้าใจมากขึ้นและการติดต่อสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น
5. การติดต่อสื่อสารควรคำนึงถึงการใช้สื่อต่างๆ
ในการติดต่อ
6. การติดต่อสื่อสาร
จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในด้านพฤติกรรมของกลุ่มและเจตคติของกลุ่มถ้ามีการอภิปรายก่อนตัดสินใจ
เพื่อให้การสื่อสารการนิเทศการศึกษามีประสิทธิภาพ
ผู้เขียนเสนอทัศนะเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการนิเทศไว้ ดังนี้
1. ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ
ต้องเข้าใจจุดมุ่งหมายหรือความต้องการของตนเองในการสื่อสารก่อน
ว่าต้องการให้ผู้รับสารได้รับทราบเกี่ยวกับเรื่องใดและควรมีการอธิบายข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจชัดเจนมากยิ่งขึ้น
2. ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศควรพิจารณาถึงช่องทางหรือวิธีการในการสื่อสารว่าควรใช้วิธีการใดจึงเหมาะสมและเกิดอุปสรรคน้อยที่สุด
โดยช่องทางที่ใช้ในการสื่อสารแต่ละครั้งอาจใช้ได้หลายช่องทางร่วมกัน เช่น
ใช้ทั้งวาจา หรือใช้การเขียนที่เป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกันในเป้าหมายเดียวกัน
เป็นต้น
3.
ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับ ระดับความสามารถของผู้รับสาร
ช่องว่างระหว่างวัย ระดับการศึกษา ลักษณะและขนาดโครงสร้างของสถานศึกษาแต่ละแห่ง
วัฒนธรรมองค์กร ฯลฯ เพื่อจะได้เตรียมตัวและเตรียมข้อมูล เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้กับผู้รับสารเกิดความเข้าใจสารได้ง่ายขึ้น
เช่น
หากผู้รับสารมีระดับความสามารถในการรับรู้สารในลักษณะที่เป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม
ผู้ส่งสารอาจเตรียมเขียนแผนภาพประกอบลำดับขั้นของการสอนที่ชัดเจนและทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
เป็นต้น
4. ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศควรจดบันทึกรายการที่เป็นอุปสรรคปัญหาในการสื่อสารการนิเทศการศึกษา
เพื่อที่จะได้หาวิธีการปรับปรุงแก้ไขในครั้งต่อไปและไม่ทำให้เกิดอุปสรรคในการสื่อสารซ้ำแบบเดิมๆ
แก่ผู้รับสารอีก
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น
แสดงให้เห็นว่าทักษะการสื่อสารเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่ง
ที่ช่วยส่งเสริมให้การนิเทศการศึกษาประสบความสำเร็จ