แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการสื่อสาร
แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการสื่อสาร
การพูด การฟัง และการสื่อความหมายโดยไม่ใช้คำพูด รวมถึงการใช้ภาษาท่าทาง (Nonverbal) เป็นองค์ประกอบสำคัญของการสื่อสาร ดังนั้น ผู้นิเทศที่ดีต้องสามารถสื่อสารและสื่อความหมายได้อย่างถูกต้องชัดเจน รวมถึงสามารถให้ข้อมูลสำคัญให้กับผู้รับการนิเทศให้เกิดความเข้าใจในสิ่งที่ต้องการสื่อสารดังนั้น "การสื่อสาร" จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งของการนิเทศการศึกษา
ในทำนองเดียวกัน คอสต้าและแกมส์ตัน (Costa and Gramston, 2002 อ้างถึงในวัชรา เล่าเรียนดี, 2554 : 85) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า มีความสำคัญมากต่อการปฏิบัติร่วมงานกันให้บรรลุเป้าหมายและประสบผลสำเร็จ การสื่อความหมายที่สำคัญ คือ การใช้วาจา คำพูด เช่น การใช้ระดับของเสียงในการพูด ความดังของเสียง การเน้นคำหรือข้อความ การสะท้อนความคิด การโต้ตอบและการใช้คำที่เหมาะสม ชัดเจนเข้าใจง่าย สำหรับการสื่อความหมายโดยไม่ใช้คำพูดและใช้ภาษาท่าทาง (Nonverbol) เช่น ท่าทาง การยืน การนั่ง การแสดงออกซึ่งท่าทาง ระยะความห่างระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ความตึงเครียด ความผ่อนคลายของท่าทางและการแสดงออกทางสีหน้า ซึ่งการสื่อสารสื่อความหมายโดยไม่ใช้คำพูดจะมีการใช้มากกว่าการใช้วาจา อย่างไรก็ดีทั้งการใช้วาจา คำพูด และภาษท่าทางในการนิเทศ สร้างความผ่อนคลาย ความเป็นตัวของตัวเอง ความไว้ใจและการน้อมรับให้เกิดขึ้นกับอีกฝ่ายหนึ่งอย่างจริงใจ ใส่ใจ และเปิดเผย